ของดี India

ใครใครต่างสงสัยว่าทำไมชอบไปอินเดียนัก สกปรกจะตาย บอกได้เลยว่าศิลปะวัตถุของเค้าเจ๋งจริง ลองดูแล้วจะติดใจจจจ

india2

india2

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2552

Slumdog ดร . เอ็มเบ็ดการ์ ผู้กลายเป็นรัฐบุรุษของอินเดีย







รายงานโดย :ว.วชิรเมธี
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา โลกให้ความสนใจกับการประกาศผลรางวัลออสการ์มากเป็นพิเศษยิ่งกว่าทุกปี เพราะภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลปีนี้ เป็นเพียงภาพยนตร์ต้นทุนต่ำ ซ้ำยังถือว่าเป็นหนังอินดีนอกกระแส
แต่เนื้อหากลับเข้มข้น คมคาย และบาดลึกเข้าไปในทรวงของใครต่อใครมากมายหลายคน หลายองค์กร และหลายประเทศทั่วโลก ภาพยนตร์ที่ว่านี้ก็คือ “Slumdog Millionaire” ที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กจากสลัม ซึ่งเข้าไปแข่งขันเกมเศรษฐีจนเป็นผู้ชนะ แต่เป็นการชนะที่บรรดาชนชั้นกลาง ชน ชั้นนำทั้งหลาย ซึ่งผูกขาดสิทธิในการเป็นผู้ชนะมาอย่างยาวนานในแทบจะทุกเรื่อง ไม่อยากจะยอมรับ หรือยากจะทำใจให้ยอมรับได้ เพราะพวกเขาต่างมีตรรกะสำเร็จรูปว่า เด็กจากสลัมชั้นต่ำ ไม่ควรจะ “ อัจฉริยะ ” เกินกว่าเด็กสลัมที่พวกเขาเคยรู้จักกันมาแต่กาลก่อนนับร้อยนับพันปี แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว และรางวัลออสการ์ 5 รางวัล ก็เป็นของภาพยนตร์เรื่องนี้ไปแล้วเรียบร้อยอย่างชนิดที่ชื่นมื่นด้วยกันทุกฝ่าย
แต่ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด คือ เรื่องราวจากภาพยนตร์ ทว่าในชีวิตจริงยังคงมีบุคคลประเภท Slumdog อีกมากมายในสังคมอินเดียที่มีชะตากรรมสุดอาภัพ จนบางทีเราก็ยากจะจินตนาการไปถึงว่า ในโลกนี้ยังคงมีความอยุติธรรมสุดโต่งเช่นที่หนังเล่าไว้หลงเหลืออยู่ในโลกนี้อย่างเปิดเผย บางทีเรื่องจริงที่จะเล่าต่อไปนี้ อาจเข้มข้นกว่าเรื่องราวในหนังกว่าร้อยเท่า นั่นก็คือ เรื่องราวของรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของชาวอินเดียและชาวพุทธ
เขาคือ ดร.เอ็มเบ็ดการ์ หรือ ดร.เอ็มเพทการ์ มหาบุรุษผู้มาจากวรรณะจัณฑาล แต่สามารถทะยานขึ้นมาเป็นรมว.ยุติธรรมคนแรกของประเทศ ทั้งยังเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทลายระบบวรรณะที่เคยทำให้เขาเจ็บปวดมาอย่างลึกซึ้งยาวนาน และประการสำคัญท่านคือ ผู้ฟื้นคืนชีพพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียให้กลับมามีชีวิตชีวาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คนอินเดียลืมไปแล้วว่า อินเดียคือแผ่นดินมาตุภูมิของพระพุทธศาสนา ในสังคมอินเดียซึ่งประชากรส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาฮินดูนั้น มีการแบ่งประชาชนออกเป็น 4 วรรณะ คือ
1. วรรณะพราหมณ์ ทำหน้าที่ทางศาสนาและเป็นครูบาอาจารย์
2. วรรณะกษัตริย์ ทำหน้าที่ปกครองและเป็นนักรบ
3. วรรณะแพศย์ ทำหน้าที่ค้าขายและกสิกรรม
4. วรรณะศูทร ทำหน้าที่เป็นกรรมกรผู้ใช้แรงงาน
เปือกตมที่บ่มเพาะดอกบัว
วรรณะทั้งสี่นี้เรียกว่าเป็นพวก “ สวรณะ ” ( คนมีวรรณะ) นับว่ายังมีเกียรติมีฐานะในสังคมอินเดียเหมือนคนปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม นอกจากวรรณะทั้งสี่นี้แล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งพระเจ้าของศาสนาฮินดูไม่ยอมจัดให้สังกัดวรรณะใด คนทั่วไปจึงเรียกพวกเขาว่าเป็นพวก “ อวรรณะ ” ( คนนอกวรรณะ) คนนอกวรรณะเหล่านี้อาจเรียกว่าวรรณะที่ห้าก็ได้ พวกอวรรณะมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อคือ จัณฑาล หริชน หินชาติ ปาริหะ ปัญจมะ มาหาร์ อธิศูทร เป็นต้น คนนอกวรรณะเหล่านี้ ยังแบ่งออกได้เป็นกลุ่มย่อยได้อีก คือ
1. พวกที่แตะต้องไม่ได้ ( Untouchables)
2. พวกที่เข้าใกล้ไม่ได้ ( Unapproachable)
3. พวกที่มองดูไม่ได้ ( Unseeables)
พวกนอกวรรณะเหล่านี้ มีสถานภาพไม่ต่างอะไรกับทาสหรือสัตว์เดียรัจฉานชนิดหนึ่ง ในสายตาของคนวรรณะทั้งสี่ข้างบน สำหรับคนนอกวรรณะอย่างพวกเขาไม่มีสิทธิอะไรทางสังคม นอกจากเกิดมาเพื่อทำหน้าที่เป็น “ ข้าช่วงใช้ ” หรือ “ แรงงานทาส ” ของคนในวรรณะเท่านั้น อาชีพสำหรับพวกเขาก็คือต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งสกปรกโสโครกทั้งปวง เช่น กวาดถนน ขนขยะ ล้างท่อ ฟอกหนัง กรรมกร อาทิ ที่อยู่อาศัยของพวกเขาคือต้องแยกออกมาต่างจากคนที่อยู่ในวรรรณะ และที่ทีเหมาะสำหรับพวกนอกวรรณะก็คือ ข้างกองขยะ แหล่งชุมชนแออัด หรือย่านคนจนที่อยู่ห่างไกลออกไปจากคนวรรณะ
พลิกวิกฤตเป็นโอกาส แปรคำปรามาสเป็นพลัง
ดร.บี อาร์ อัมเพทการ์ ( Dr.B R Ambedkar) ถือกำเนิดมาในครอบครัวจัณฑาล หรืออธิศูทรที่ยากจนข้นแค้น เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ปี พ.ศ. 2534 ณ หมู่บ้านของคนจัณฑาล ชื่ออัมพาวดี อ.รัตนคีรี รัฐมหาราษฏระ (มุมไบ) ประเทศอินเดีย บิดาของท่านชื่อ “ ราเมชี สักปาละ ” (Ramji Sakpal) เคยมีอาชีพเป็นทหารมาก่อน เมื่อปลดประจำการแล้ว จึงมายึดอาชีพกรรมกรขายแรงงานที่หาเช้ากินค่ำ มารดาของท่านเป็นสตรีวรรณะจัณฑาลเหมือนกัน ชื่อ “ ภีมาไพ ” (Bhimabai) ทั้งสองมีลูกด้วยกันถึง 14 คน อัมเพทการ์นับว่าเป็นคนสุดท้อง แต่ต่อมาพี่น้องส่วนใหญ่ก็มาเสียชีวิต เหลือกันอยู่เพียง 5 ชีวิต เท่านั้น
เมื่อยังเล็ก ดร.อัมเพทการ์ มีชื่อว่า “ ภีม ”(Bhim) พออายุ 2 ขวบ ก็เข้าโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งพร้อมกับพี่ชายอีก 2 คน อยู่ต่อมาอีกจนอายุ 4 ขวบ มารดาก็มาจากไป และนับแต่นี้ไปครอบครัวของภีมก็มีแต่เลวร้ายลงไปทุกที
อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดมาท่ามกลางความขัดสนท่ามกลางสังคมที่อยุติธรรมไปเสียทุกอย่าง แต่พ่อของภีมก็ไม่ย่อท้อ ยอมทำงานหนักสายตัวแทบขาด เพื่อส่งให้ลูกของตนได้เรียนหนังสือให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น เมื่อภีมเรียนจบชั้นประถมศึกษาแล้ว พ่อจึงส่งเสียให้เขาได้เรียนในชั้นมัธยมศึกษาต่อทันที ชีวิตในโรงเรียนมัธยมสำหรับลูกของจัณฑาล เป็นชีวิตที่ถูกดูถูกเหยียดหยามไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดียรัจฉานตัวหนึ่งเลยทีเดียว ความอาภัพของชนชั้นจัณฑาลที่ภีมได้ประสบด้วยตัวเอง ในระหว่างที่เรียนหนังสืออยู่มากมายนั้น เช่น
1. ช่วงปิดเทอมคราวหนึ่ง ภีมและพี่ชายได้ชวนกันออกเดินทางไปหาพ่อซึ่งทำงานอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง ในระหว่างทางพวกเขาได้ว่าจ้างเกวียนเล่มหนึ่งให้ไปส่ง แต่เดินทางไปได้ไม่ไกลนัก คนขับเกวียนก็รู้จากการสนทนาว่าเด็กทั้งสองว่าเป็นลูกคนจัณฑาลชั้นต่ำ เขาจึงไล่เด็กทั้งสองลงจากเกวียนทันที ภีมและพี่ชายไม่มีทางเลือก ต้องลงเดินด้วยเท้าจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง ตลอดทางตั้งแต่บ่ายจนเที่ยงคืนไม่มีอะไรตกถึงท้อง เพราะว่าไม่ว่าจะเข้าไปขอน้ำดื่มจากที่ไหน ก็จะถูกไล่ตะเพิดเหมือนตัวเสนียดจัญไร
2. วันหนึ่งภีมไปตัดผมที่ร้านตัดผม แต่พอนายช่างรู้ว่าเขาเป็นลูกของคนจัณฑาล ก็ไล่ตะเพิดเขาออกจากร้านพร้อมทั้งยังบริภาษออกมาด้วยว่า
“ เขายินดีตัดผมให้กับทุกคน หรือยินดีตัดผมให้กับสัตว์เดียรัจฉาน แต่เขาจะไม่ยอมให้กรรไกรของตัวเองแตะต้องผมของพวกคนจัณฑาลอย่างเด็ดขาด ” นับแต่นั้นมา พี่สาวคนหนึ่งของภีมก็เลยกลายเป็นช่างตัดผมประจำตัวของเขาไปโดยอัตโนมัติ
3. ที่โรงเรียนภีมจะถูกกำหนดให้นั่งอยู่หลังห้องแยกต่างหากจากเด็กคนอื่น เขาไม่มีสิทธิจะอ่านโคลง กลอน ภาษาสันสกฤตเหมือนเพื่อนร่วมชั้นคนอื่น เพราะภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่สงวนไว้สำหรับชนชั้นสูง เช่น วรรณะพราหมณ์ เท่านั้น ครูประจำชั้นจะไม่ยอมให้แตะต้องสมุด หนังสือ หรือแม้แต่เดินเฉียดกรายมาใกล้ภีมเป็นอันขาด เพราะเข้าเชื่อว่าภีมเป็นตัวอัปรีย์จัญไรที่ใครเข้าใกล้แล้วจะมีมลทิน ขณะที่อยู่ที่โรงเรียนนั้นหากเกิดกระหายน้ำขึ้นมา ภีมจะไม่มีสิทธิที่จะไปตักน้ำดื่มด้วยตนเอง เพราะพวกเขาเกรงว่าภีมจะไปทำให้บ่อน้ำเป็นอัปมงคล ด้วยเหตุนี้ หากทนกระหายไม่ได้จริงๆ ภีมจึงต้องเป็นฝ่ายขอร้องเพื่อนคนใดคนหนึ่งที่มีจิตใจอารีมาตักให้ แล้วเขาค่อยๆ รินน้ำลงใส่ปากตัวเองอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้เพื่อมิให้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของภีมไปถูกภาชนะใส่น้ำ หรือไปสัมผัสกับผู้ที่มีเมตตารินน้ำใส่ปากเขา
ที่โรงเรียนครูทุกคนล้วนสังกัดวรรณะพราหมณ์ ไม่ว่าภีมจะเดินเฉียดกรายทางไหน ฝูงชนจะแตกออกเป็นทาง และจากนั้นเสียงสาปแช่ง ก่นด่า เยาะเย้ย ถ่มถุยก็จะตามมา จนดูเหมือนกับว่าภีมเป็นสิ่งสกปรกที่เขาโยนขึ้นมาจากท่อข้องถนนก็มิปาน ตลอดเวลาที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนมัธยม ภีมรู้สึกเหมือนอยู่ในนรก เพราะต้องทนอยู่กับสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และอยุติธรรมในทุกเรื่อง เช่นนี้เอง ภีมจึงเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า
“ สักวันหนึ่งเราจะต้องถีบตัวเองให้สูงขึ้นไป เพื่อให้พ้นจากภาวะอันต้อยต่ำนี้ให้ได้ และการที่จะทำเช่นนั้นได้มีวิธีเดียวคือ ต้องตั้งใจเรียนให้ถึงที่สุด เพราะด้วย “ การศึกษา ” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้คนจัณฑาลได้รับการยอมรับ ”
ปณิธานที่ก่อรูปขึ้นในใจอย่างเงียบๆ นี้เอง ส่งผลให้ภีมกลายเป็นเด็กเรียนดี ที่สอบได้คะแนนสูงสุดทุกวิชาในทุกภาคการศึกษา คำคมสำหรับตอนที่ ( 1)
จากคนที่เคยถูกดูหมิ่นเหยียดหยามในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย กลายมาเป็นผู้ก่อตั้งวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 4 แห่ง
จากคนที่ไม่มีแม้แต่หนังสือจะอ่านยามเป็นนักเรียนนักศึกษา กลายมาเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ และนักเขียนบทความผู้มีชื่อเสียงซึ่งอ่านกันตั้งแต่ในทับกระท่อมของคนจัณฑาล ไปจนถึงในสำนักพระราชวังของอังกฤษ และในทำเนียบรัฐบาลของผู้ทรงอำนาจทั่วโลกในยุคนั้น
จากคนที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพอะไรเลยทางการเมือง แต่กลับกลายมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิและเสรีภาพแก่คนทุกชาติชั้นวรรณะอย่างเสมอภาคกัน
จากคนที่ได้รับแต่ความอยุติธรรมมากกว่าครึ่งค่อนชีวิต กลายมาเป็นรมว.ยุติธรรมเป็นคนแรกของประเทศ
จากคนที่ปฏิเสธศาสนา กลายมาเป็นผู้รื้อฟื้นคืนชีวิตให้แก่พระพุทธศาสนา จนหวนคืนสู่มาตุภูมิอีกครั้งหนึ่งจนรุ่งโรจน์โชตนามาจนถึงทุกวันนี้
จากคนต่ำต้อยด้อยค่ายิ่งกว่าสัตว์เดียรัจฉาน สุดท้ายเขากลับได้รับการเทิดทูนจากมหาชน ให้เป็นดังหนึ่งวีรบุรุษและเทพเจ้าองค์หนึ่งของประเทศอินเดีย